กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ

28
ต.ค. 65
เรื่อง ชี้แจงข่าว “ผังเมืองสุดงง”
ตามที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ หน้า ๖ คอลัมน์เลาะรั้ว เสนอข่าวประเด็น “ผังเมืองสุดงง"

เรียน พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน

 

                ตามที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ หน้า ๖ คอลัมน์เลาะรั้ว เสนอข่าวประเด็น “ผังเมืองสุดงง”นั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นข่าวดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้                 

                 ๑. ประเด็น จากการปรับปรุงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ ยังไม่ปรากฏว่ามีจังหวัดหรือท้องที่ใดได้จัดการให้มีการวางผังเมืองตามพ.ร.บ.ฉบับนี้

หลังจากการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว ปรากฏว่า        มีการประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมที่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว ดังนี้

                       ๑. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔

                      ๒. เทศบัญญัติเทศบาลตำบลถนนใหญ่ เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองลพบุรี พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

                      ๓. เทศบัญญัติเทศบาลตำบลกกโก เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองลพบุรี พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

               ๒. ประเด็น การประกาศผังเมืองรวมในเขตเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปี ๒๕๖๔ ไม่ได้จัดวางแผนผังให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ตามบทบัญญัติ

การประกาศผังเมืองรวมในเขตเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2564 เป็นการแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2555 โดยเป็นการแก้ไขเฉพาะบริเวณ และแก้ไขเพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมในเขตเมืองเชียงใหม่          โดยจะมีองค์ประกอบของผังเมืองรวมตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ คาดว่าจะประกาศ  ใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาปีพ.ศ. 2565

                ๓. ประเด็น ประเทศไทยยังไม่มีการจัดวางผังเมืองตามมาตรา ๘ อย่างชัดเจน ได้แก่           ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค ผังนโยบายระดับจังหวัด แม้แต่ผังเดียว

พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๘ กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมืองวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ  ในด้านการใช้พื้นที่เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ แบ่งเป็นสามประเภท ดังต่อไปนี้

                             . ผังนโยบายระดับประเทศ เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศในด้านการใช้พื้นที่ การพัฒนาเมือง บริเวณที่เกี่ยวข้อง และชนบท โครงสร้างพื้นฐานหลัก การพัฒนาพื้นที่พิเศษการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้การวางผังทุกระดับสอดคล้องและเชื่อมโยงกับผังนโยบายระดับประเทศ

                                      การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์ภายนอกที่ส่งผลต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้ง    จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เรื่องปัญหา ความต้องการ และความคาดหวังของประชาชนในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาเมืองเพื่อรับทราบนโยบายของหน่วยงาน และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์      ในการนำข้อมูลมาใช้จัดทำกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ

                                      ปัจจุบัน กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการทบทวนการจัดทำกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ พ.ศ. ๒๕๘๐ และผังนโยบายรายสาขาให้สามารถรองรับแนวโน้มการพัฒนาประเทศหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) รวมทั้งสอดคล้องกับการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ    และสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓
                                                            การดำเนินการขั้นต่อไป จะประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วน   ที่เกี่ยวข้องจำนวนครั้ง ดังนี้
                                  ๑. วิสัยทัศน์การใช้พื้นที่ประเทศไทย

                                   ๒. กรอบนโยบายการใช้พื้นที่ประเทศไทย พ.ศ.๒๕๘๐

                                  ๓. ร่างผังนโยบายการใช้พื้นที่ระดับประเทศ พ.ศ.๒๕๘๐

 โดยจะดำเนินการนำเสนอร่างผังนโยบายระดับประเทศต่อคณะกรรมการนโยบาย    การผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๕

                        ๒.  ผังนโยบายระดับภาค กำลังดำเนินการวางผังนโยบายระดับภาค จำนวน ๖ ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 และจะนำเสนอร่างผังนโยบายระดับภาคต่อคณะกรรมการนโยบาย การผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

                                    ๒.๑ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

                                                     การดำเนินงานที่ผ่านมา

                                              ๑) การกำหนดบทบาทและตำแหน่งการพัฒนาภาค

                                              ๒) การศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มด้านต่าง ๆ เช่นการใช้ประโยชน์ที่ดินการพัฒนาเมืองและชนบท ด้านเศรษฐกิจ ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

                                               ๓) การกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ทิศทาง และกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของภาค

                                              ๔) การจัดทำผังนโยบายภาค เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและดำรงรักษาพื้นที่ในระดับภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัดและเมือง พร้อมมาตรการ ตัวชี้วัด และวิธีการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติ

                                              ๕) การประชุมเชิงปฏิบัติการและประชุมกลุ่มย่อย ดังนี้

                                                        ครั้งที่ ๑ ศักยภาพ ปัญหา และทิศทางการพัฒนาภาค

                                                        ครั้งที่ ๒ วิสัยทัศน์ และกรอบนโยบายการใช้พื้นที่รายสาขา

                                                        ครั้งที่ ๓ ร่างผังนโยบายการใช้พื้นที่ภาค

                                                     การดำเนินงานขั้นต่อไป

                                               ๑) การหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดทำร่างผังนโยบายระดับภาค

                                              ๒) จัดทำร่างนโยบายเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ

                                     ๒.๒ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                                                      การดำเนินงานที่ผ่านมา

                                                 ๑) การกำหนดบทบาทและตำแหน่งการพัฒนาภาค

                                                 ๒) การศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มด้านต่าง ๆ เช่นการใช้ประโยชน์ที่ดินการพัฒนาเมืองและชนบท ด้านเศรษฐกิจ ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

                                                ๓) การกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ทิศทาง และกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของภาค

                                                ๔) การจัดทำผังนโยบายภาค เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและดำรงรักษาพื้นที่ในระดับภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัดและเมือง พร้อมมาตรการ ตัวชี้วัด และวิธีการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติ

                                               ๕) การประชุมเชิงปฏิบัติการและประชุมกลุ่มย่อย

                                                        ครั้งที่ ๑ ศักยภาพ ปัญหา และทิศทางการพัฒนาภาค

                                                        ครั้งที่ ๒ วิสัยทัศน์ และกรอบนโยบายการใช้พื้นที่รายสาขา

                                                     การดำเนินงานขั้นต่อไป

                                               ๑)  การประชุมเชิงปฏิบัติการและประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ ๓ ร่างผังนโยบายการใช้พื้นที่ภาค

                                              ๒) การหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดทำร่างผังนโยบายระดับภาค

                                               ๓) จัดทำร่างนโยบายเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ

                                     ๒.๓ ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

                                                    การดำเนินงานขั้นต่อไป

                                            ๑) ดำเนินการทบทวนการวางผังภาคให้สอดคล้องกับผังนโยบายระดับประเทศ สถานการณ์ปัจจุบัน

                                          ๒) ปรับปรุงให้มีผังนโยบายรายสาขาให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชุมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง         ภายหลังการปรับปรุงร่างผังนโยบายภาคกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอร่างผังนโยบายระดับภาค               ให้คณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

                    ๓. ผังนโยบายระดับจังหวัด เป็นแผนผังที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาพื้นที่ระดับจังหวัดในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและชนบท การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ รวมทั้งการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมือง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็น “ประกาศคณะกรรมการผังเมือง” ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๕ กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัด ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสมุทรปราการ         จังหวัดสมุทรสงคราม โดยอยู่ในขั้นตอนรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุสถานการณ์ของจังหวัด       รวบรวมแผนงานโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาบูรณาการลงสู่ผังนโยบายระดับจังหวัด     เตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความต้องการในพื้นที่ และดำเนินการจัดทำเป็นร่างผังนโยบายระดับจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบ         กรมโยธาธิการและผังเมืองมีแผนจะดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัดให้แล้วเสร็จครบทั้ง ๗๖ จังหวัด

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๘-๒๕๖๙ โดยดำเนินการวางผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้ง ๓ ระดับ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศและ   สภาพเศรษฐกิจและสังคม หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

                    ๔. ประเด็น การจะพัฒนาเมืองภายใต้พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้กำหนดให้ผังเมืองรวมมีการใช้มาตรการทางด้านการเงินการคลัง (มีอำนาจในการเวนคืนที่ดินบางส่วนได้) งบประมาณส่วนนี้จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ใครเป็นผู้ถือใครจะเป็นผู้กำหนดไว้  ในงบประมาณของรัฐ

กรณีพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้อำนาจในการเวนคืนที่ดินบางส่วนได้    ซึ่งเป็นกรณีการได้มาซึ่งที่ดินในเขตผังเมืองเฉพาะตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีความจำเป็น    ต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะ ให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นไปตามกฎหมาย     ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์" โดยงบประมาณในการเวนคืนจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน       ที่ตราพระราชบัญญัติฯ หรือพระราชกฤษฎีกาผังเมืองเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง     หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี

                   ๕. ประเด็น พื้นที่ในเขตผังเมืองรวมตามพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่กำหนดควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และให้อำนาจในการควบคุมนั้นกับสำนักนโยบายเขตพัฒนาพิเศษที่ไม่มี      ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการผังเมือง การควบคุมอาคาร การตรวจสอบอาคารและการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาซึ่งยังไม่เห็นรัฐบาลจะจัดการได้ นอกจากสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาทางกำหนดหลักเกณฑ์ ในที่สุดก็คือ ความซับซ้อนและซ้ำซ้อนที่จะเป็นอุปสรรคและความยุ่งยากต่อการพัฒนาเมือง

๑. มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้กำหนดให้ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้สร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการตามหลักวิชาการผังเมือง”

จากข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการดำเนินการจัดทำแผนผัง EEC นั้น ยังคงจะต้องเป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนผังดังกล่าว และได้ผ่านการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่แล้ว

               ๒. ในเรื่องของการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตผังเมืองอีอีซี นั้น การอนุมัติ/อนุญาตก่อสร้างและดำเนินการกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ ยกเว้นบริเวณพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้กำหนดไว้ว่า “การดำเนินการหรือการกระทำใดภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ๘ ฉบับ ได้แก่

                      ๑) กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน

                      ๒) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

                       ๓) กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร

                       ๔) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

                       ๕) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๕๔ (๑) หรือ (๒) อยู่ต่อในราชอาณาจักร

                       ๖) กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์

                     ๗) กฎหมายว่าด้วยโรงงาน

                      ๘) กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

ให้ถือว่าเลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายนั้น แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์    วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น...”และการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ยังคงต้องเป็นไปตามที่ผังเมืองอีอีซีได้กำหนดไว้

                        กรมโยธาธิการและผังเมืองขอขอบคุณสำนักข่าวและสื่อมวลชนที่ได้เสนอข่าวดังกล่าว ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบทันสถานการณ์ตามนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ที่มอบไว้มา ณ โอกาสนี้

แท็ก